คุณเคยได้ยินประโยคเหล่านี้หรือไม่? "ภาษาไทยใกล้จะวิบัติแล้ว”
"เอกลักษณ์ของภาษาไทย จะค่อยๆ จางหายไป” หรือบ้างก็พูดว่า
"เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีผลให้ภาษาไทยเข้าสู่ยุควิกฤติ” คำถามต่อมา
แล้วคุณคิดอย่างไรกับประโยคเหล่านี้!? เห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็แสดงว่า
กำลังมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับภาษาไทย ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย
เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเราทุกคนภาคภูมิใจ และคำถามสุดท้าย
คุณจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้หรือไม่...?
เป็นที่ทราบกันดีว่า มีไม่กี่ประเทศ ในโลกที่มีภาษาพูดเป็นของตนเอง และมีไม่กี่ประเทศที่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง
แต่จะมีสักกี่ประเทศที่มี ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง
ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่ง ในประเทศที่มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง
จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยทุกคนภาคภูมิใจในวัฒนธรรมด้านภาษา แต่การที่เราพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยเป็นประจำทุกวันจนเกิดความคุ้นชินนั้น
ทำให้เราละเลยและลดความสำคัญกับสิ่งที่มีคุณค่าลง
จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษาขึ้น
คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นมักจะรวบรัดตัดตอนคำให้สั้นลง เพื่อความรวดเร็ว
หรือบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ที่ใช้เฉพาะกลุ่มขึ้นเพื่อความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
เช่น มโน (การจิตนาการหรือคิดไปเอง) เกรียน (บุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว
หรือชอบก่อกวน) หรือมักจะใช้คำที่พ้องเสียง เช่น นู๋ (หนู) ครัช (ครับ) เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ แต่เป็นปัญหาที่ถูกสะสมและเรื้อรังมานาน
ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์มีส่วนที่ ทำให้ปัญหานี้ชัดเจนมากขึ้น
เพราะการสนทนาหรือเผยแพร่ของข้อความ ที่แสดงทัศนคติในเรื่องต่างๆ
ของตนเองผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เช่น E-Mail Facebook Line เป็นต้น
ทำให้คำเหล่านี้ถูกแพร่กระจายและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
แม้คำและช่องทางที่ใช้เหล่านี้จะไม่เป็นทางการ
แต่หากเราใช้มันอยู่ตลอดเวลาจนทำให้เกิดความคุ้นชินและค่อยๆ
ซึมซับภาษาที่ผิดจนหลงลืมคำที่ถูกต้องไป
ก็เป็นการสร้างหรือเพิ่มให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ
"ลืมจนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรากำลังใช้คำที่ผิดอยู่”
หากพวกเราทุกคนยังนิ่งเฉยกับปัญหาเหล่านี้ ก็จะทำให้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมากขึ้น
เอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยจะค่อยๆ สูญเสียไปจนหมดสิ้น เมื่อคุณรู้อย่างนี้
ก็ไม่สายเกินไปถ้าจะหันมาช่วยกันอนุรักษ์และส่งต่อการใช้ภาษาไทย ที่ถูกต้องให้กับคนรุ่นต่อๆ
ไป ด้วยวิธีการง่ายๆ (3 ป.) ที่เราทุกคนก็สามารถทำได้ ดังนี้
1. ปลูกฝังวัฒนธรรมรักการอ่าน
พ่อแม่ผู้ปกครองควรปลูกฝังวัฒนธรรมรักการอ่านให้กับบุตรหลานตั้งแต่เล็กๆ
เพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่เหมาะสมและง่ายต่อการปลูกฝังสิ่งต่างๆ และการอ่านยังเป็น
การวางรากฐาน ด้านภาษาที่ดีอีกทางหนึ่ง ซึ่งเราพบสัญญาณที่ดีต่อการแก้ปัญหานี้คือ
จากสถิติการสำรวจการอ่านของประชาชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี พ.ศ. 2558
เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มีอัตราการอ่านร้อยละ 60.2
ในขณะที่ผลการสำรวจเด็กกลุ่มเดียวกันในปี 2556 มีอัตราการอ่าน 58.9 นั้นคือ
มีอัตราการอ่าน ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและเพิ่มขึ้นเกือบทุกพื้นที่
ซึ่งจากผลการวิจัยสามารถคาดคะเนได้ว่า
เมื่อเด็กมีการซึมซับหลักการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องมากขึ้น
ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องก็จะลดลงไปด้วย
2. ปลุกจิตสำนึกในการหวงแหนภาษาไทยและรู้กาลเทศะการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง
การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญ
แต่เราควรสอดแทรกความเป็นมา
และคุณค่าที่ความสำคัญของภาษาไทยเข้าไปด้วยเพื่อให้เกิดความรักและหวงแหนภาษาไทย
รวมถึงการใช้ภาษาไทยให้ถูกกาลเทศะอีกด้วย เช่น
กรณีที่ไม่เป็นทางการเราสามารถใช้ภาษาพูดได้
แต่ถ้าในกรณีที่เป็นทางการเราจะต้องใช้คำที่เป็นทางการและเหมาะสมกับบริบทนั้นๆ
ซึ่งข้อนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานการทำงานในอนาคตได้
3. เปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อเรารู้ว่าคำใดใช้ผิดหรือถูก คำใดควรหรือไม่ควรใช้กับบริบทในขณะนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมาคือ เรายังคงใช้คำที่ผิดๆ เหล่านี้อยู่อีกหรือไม่ เพราะถ้าเรายังนิ่งเฉยกับปัญหาเหล่านี้ ปัญหา ก็จะไม่ถูกแก้ไขและยังเป็นการสะสมปัญหาให้เรื้อรังอยู่ต่อไป
ระยะเวลาที่ผ่านไปทำให้สิ่งต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงรวมไปถึงเรื่องของภาษา ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ดีหรือเกิดการพัฒนาเราจะเรียกสิ่งนั้นว่า "วิวัฒนาการทางภาษา” แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นไปในทิศทางตรงกันข้ามเราจะเรียกสิ่งนั้นว่า "ความเสื่อมถอย ทางภาษา” และความเสื่อมถอยนี้เองสามารถทำลายทั้งรูปแบบและคุณค่าที่งดงามของภาษาไทยให้สูญไปได้อย่างที่คุณคาดไม่ถึง ดังนั้นบุคคลสำคัญที่สามารถอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่หรือทำลายภาษาไทยให้สูญสิ้นไปก็คือ "คุณ” หรือพูดง่ายๆ ว่า ความอยู่รอดของภาษาไทยอยู่ในกำมือคุณ
นางสาวณธษา ราชบัณฑิต
ขอบคุณแหล่งข้อมูล :
สรุปสำหรับผู้บริหารการสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2558 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ภาพประกอบ : เรื่อง บ่องตง! คืออะไร
ศัพท์ใหม่มาแรงของวัยรุ่นในโลกออนไลน์